ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ยากไร้ในบรรดาประชากรด้อยโอกาสที่สุด
แห่งหนึ่งของโลก

ถ้ำหิน คือ ชื่อของพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากการสู้รบในประเทศพม่า เป็น 1 ในจำนวนพื้นที่พักพิง ฯ 9 แห่ง ทั่วประเทศไทย ซึ่งพื้นที่พักพิงฯ ถ้ำหิน นี้ได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2540 ในจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันรองรับประชากรผู้หนีภัยที่มาอาศัยอยู่มากกว่า 9,500 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2554 พระอัครสังฆราช โจวานนี ดานีเอลโล พระสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ได้เข้าเยี่ยมพื้นที่พักพิง ฯ ถ้ำหิน โดยได้รับการต้อนรับจากคณะของโคเออร์ซึ่งนำโดย
ซิสเตอร์เซซิเลีย

พระอัครสังฆราชได้กล่าวตอบการต้อนรับของหัวหน้าพื้นที่พักพิง ฯ ชัวคราว ถ้ำหิน คือ จ่าอากาศเอก วิทมนต์ ไชยมงคล และ ต่อผู้แทนผู้หนีภัยว่า “ความประสงค์ในการเดินทางมาเยี่ยมเยียนพื้นที่นี้ คือเพื่อแสดงไมตรีจิตและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของข้าพเจ้ากับท่านทั้งหลาย” และ “เพื่อนำความห่วงใยของพระศาสนจักรมายังท่านด้วย” คำแถลงที่ถือว่าเป็นใจความสำคัญแห่งการมาเยือนนั้นคือ – ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน – ซึ่งท่านแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ตกทุกข์ได้ยากที่ถ้ำหินได้อย่างจับใจ

ท่านสมณทูตได้อธิบายว่า ท่านมาในครั้งนี้ในฐานะบุคคลหนึ่งที่มี “ความห่วงใยและความรักโดยส่วนตัว” และในฐานะผู้แทนของศาสนจักรและองค์สมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อแจ้งให้ผู้หนีภัยในพื้นที่ ฯ ได้รับทราบว่า
“พวกท่านทั้งหลายมิได้ถูกลืมเลือน และ เรามีความห่วงใยต่อท่าน” ท่านยังได้กล่าวว่า ณ ที่นี้ความห่วงใยของพระศาสนจักร ได้กระทำผ่านการปฏิบัติงานของคารีตัสไทยแลนด์และสำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยและผู้ประสบภัย (โคเออร์) ซึ่งได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลื้ภัยแห่งสหประชาชาติ
(ยูเอ็นเอชซีอาร์) และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานอย่างแข็งขันในพื้นที่พักพิง ฯ ทุกแห่ง

ถ้ำหินมิใช่พื้นที่พักพิง ฯ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย อันที่จริงมีถึง 9 พื้นที่ ฯ และมีจำนวนผู้หนีภัยโดยรวมกว่า 150,000 คนที่หนีภัยสงครามมาจากประเทศพม่า ในการเยี่ยมพื้นที่ถ้ำหิน ของพระอัครสังฆราช โจวานนี ถือเป็นเสมือนการเยี่ยมเยียนไปถึงผู้หนีภัยทั้ง 150,000 คนในคราวเดียวกัน ในการปราศรัยต่อผู้หนึภัยที่ถ้ำหิน ท่านสมณทูตได้กล่าวไปถึงผู้หนีภัยทั่วประเทศไทยว่า “ท่านทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร” เป็นการกล่าวย้ำจุดยืนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ว่า “การทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยถือเป็นงานสำคัญยิ่งงานหนึ่งของพระศาสนจักร” พระสมณทูตได้กล่าวแสดงความรู้สึกขอบคุณสำหรับกิจการวันนี้ ในบทเทศน์ในพิธีบูชามิสซาว่า “ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ถึงความรักของพระเป็นเจ้าที่มีต่อเราทั้งปวง ท่านทั้งหลายได้เป็นพยานถึงความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อข้าพเจ้า ในความทุกข์ยากที่ท่านประสบ ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านในประการนี้ ....แม้ว่าข้าพเจ้ามามือเปล่า หากแต่ได้จิตใจที่เปี่ยมล้นกลับไป”

คุณพ่อจอห์น เมอเร่ย์ สงฆ์คณะเอากุสติเนียน
21 มีนาคม 2554

 

ซิสเตอร์เซซิเลีย พระอัครสังฆราช โจวานนี ดานีเอลโล สมณทูต จ่าอากาศเอก วิทมนต์ ไชยมงคล หัวหน้าพื้นที่พักพิง ฯ ชัวคราว ถ้ำหิน พระสังฆราช จอห์น บอสโก ปัญญากฤษเจริญ
และพระสังฆราชยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย ในพิธีต้อนรับสมณทูตในโอกาสเยือนถ้ำหิน

 

พระสมณทูตและคุณพ่อ วิชาญ กิจเจริญ ในพิธีบูชามิสซา

 

ผู้แทนผู้หนีภัย ฯ ในชุมชนคาทอลิกต้อนรับพระสมณทูต

 

เด็ก ๆ ผู้หนีภัยขับร้องเพลงต้อนรับพระสมณทูตหลังพิธีมิสซาในโบสถ์